เรื่องเล่าจากงานวิจัย โดย อาจารย์สุพัตรา คำแหง

เรื่องเล่าจากงานวิจัย 

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเลือกใช้บริการแพทย์ทางเลือกและภูมิปัญญาท้องถิ่นของผู้รับบริการในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช

จากการได้ทำวิจัยเรื่อง “ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเลือกใช้บริการแพทย์ทางเลือกและภูมิปัญญาท้องถิ่นของผู้รับบริการในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช” ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวศึกษาเพื่อต้องการทราบมาตรฐานของการให้บริการแพทย์ทางเลือกและภูมิปัญญาท้องถิ่นและการสอดรับความต้องการของผู้บริโภคในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญา

ก่อนทำการรู้จักกับงานวิจัยมาทราบคำนิยามศัพท์

          การแพทย์พื้นบ้าน หมายถึง การดูแลสุขภาพกันเองในชุมชนแบบดั้งเดิมจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต เกี่ยวข้องกับความเชื่อ พิธีกรรม วัฒนธรรม ประเพณี และทรัพยากร ที่แตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่นและเป็นที่ยอมรับของชุมชนนั้น

          หมอพื้นบ้าน หมายถึง บุคคลที่ได้รับการสืบทอดวิชาความรู้ด้านการรักษามาจากบรรพบุรุษ หรือผู้รู้ และให้การดูแลรักษาประชาชนโดยมีพื้นฐานของจรรยาบรรณการเป็นแพทย์ที่มีความเมตตา กรุณา และปรารถนาให้ผู้ป่วยหายจากการเจ็บป่วย

          ภูมิปัญญาท้องถิ่น หมายถึง ความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ชีวิตของคนในท้องถิ่นหรือชุมชน และมีการถ่ายทอดไปยังคนรุ่นหลัง ๆ ซึ่งนำมาใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาและดำเนินชีวิตประจำวัน

เริ่มต้นงานวิจัย

          การแพทย์พื้นบ้านไทย เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีการสะสมสืบทอดจากรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่งมีขั้นตอนการรักษาแบบเรียบง่ายไม่ซับซ้อน 

          การแพทย์ปัจจุบันเข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตของประชาชน เป็นนวัตกรรมของการรักษาแบบหนึ่งที่จะมาช่วยเสริมสร้างศักยภาพของหมอพื้นบ้าน ส่งผลให้เกิดความหลากหลายในการรักษาเพื่อสร้างการยอมรับในกระบวนการทำงานของประชาชน

การจะผสมผสานการแพทย์ทั้ง 2 ระบบเข้าด้วยกันได้อย่างเหมาะสมและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้นสำนักการแพทย์พื้นบ้านไทยจึงได้ดำเนินการจัดทำแผนเพื่อศึกษารูปแบบและความเป็นไปได้ในการผสมผสานการแพทย์แผนปัจจุบันและการแพทย์พื้นบ้านเพื่อสร้างการยอมรับในกระบวนการทำงานร่วมกันได้ภายใต้บริบทความต้องการของประชาชนในชุมชนอย่างแท้จริง

จากงานวิจัย

          ทำให้ทราบว่าปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเลือกใช้บริการแพทย์ทางเลือกและภูมิปัญญาท้องถิ่นคือผลิตภัณฑ์มีความหลากหลาย เครื่องมือใช้มีความทันสมัย มีความปลอดภัยในการใช้บริการ และสถานที่ให้บริการมีชื่อเสียงและได้รับความปลอดภัยหลังจากการรับบริการ

สรุปองค์ความรู้จากงานวิจัย

          จากงานวิจัยดังกล่าวทำให้ทราบว่าการให้บริการด้านการแพทย์ทางเลือกและภูมิปัญญาท้องถิ่นจำเป็นต้องมีการพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้รับบริการ เนื่องจากผู้รับบริการมีความต้องการที่หลากหลายรวมไปถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้านการแพทย์ เพราะฉะนั้นการพัฒนาด้านการแพทย์ทางเลือกและภูมิปัญญาท้องถิ่นจึงควรมีการพัฒนาควบคู่กันทั้งทางการให้บริการและบริการด้านผลิตภัณฑ์และมีการพัฒนาองค์ความรู้โดยการฝึกอบรมเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้รับบริการ เพื่อจะได้เข้าถึงกลุ่มผู้รับบริการอย่างแท้จริง จึงจะทำให้การแพทย์ทางเลือกปละภูมิปัญญาท้องถิ่นของเราสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้รับบริการในจำนวนมากขึ้นต่อไป

โดย อาจารย์สุพัตรา คำแหง

หัวหน้าสาขาการตลาด คณะเทคโนโลยีการจัดการ