พระราชกรณียกิจ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9

- พัฒนาชนบท
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพัฒนาชนบทในรูปโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 4,000 โครงการทั่วประเทศ เพื่อให้ราษฎรในชนบทได้มีความเป็นอยู่ตลอดจนสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงครอบครัวให้ดีขึ้น สามารถพึ่งตนเองได้ ทรงส่งเสริมให้ชาวชนบทมีความรู้ในการประกอบอาชีพตามแต่ละท้องถิ่น นอกจากนี้ยังทรงหาทางนำเอาวิทยาการสมัยใหม่มาประยุกต์กับภูมิปัญญาชาวบ้าน

ตัวอย่างโครงการในพระราชดำริที่สำคัญๆ ได้แก่
• โครงการฝนหลวง ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2512 เพื่อแก้ปัญหาเดือดร้อนทุกข์ยากของราษฎรและเกษตรกรที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและการเกษตร
• โครงการแก้มลิง ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538 เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัย หลังเกิดอุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2538
• มูลนิธิโครงการหลวง ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2512 เพื่อส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาวแก่ชาวเขา เพื่อเป็นการหารายได้ทดแทนการปลูกฝิ่น
• โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2504 มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงาน เพื่อศึกษา ทดลองและวิจัยหาวิธีแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับด้านการเกษตรต่างๆ เช่น การปลูกข้าว การเลี้ยงโคนม และการเพาะพันธุ์ปลานิล
• กังหันชัยพัฒนา สร้างต้นแบบได้ครั้งแรกในปีพ.ศ. 2532 เป็นกังหันน้ำเพื่อบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีการเติมอากาศ

- การเกษตรและชลประทาน
ทรงเน้นการค้นคว้า ทดลอง และวิจัยหาพันธุ์พืชใหม่ๆ ตลอดจนการศึกษาแมลงศัตรูพืช และพันธุ์สัตว์ต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นนั้นๆ เช่น โครงการแกล้งดิน เพื่อแก้ปัญหาดินเปรี้ยว ปรับสภาพฟื้นฟูดินด้วยปูนขาว จนกระทั่งดินมีสภาพดีพอที่จะใช้ในการเพาะปลูกได้ โดยจะเน้นให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง นอกจากนี้ ยังทรงพยายามไม่ให้เกษตรกรยึดติดกับพืชผลทางการเกษตรเพียงอย่างเดียว แต่เกษตรกรควรมีรายได้จากกิจกรรมอื่นด้วย

- การแพทย์
ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฏรตามท้องที่ต่างๆ จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีคณะแพทย์ที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาจากโรงพยาบาลต่างๆ และล้วนเป็นอาสาสมัครตามพระองค์ไปด้วย โดยเสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยเวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์พร้อมให้การรักษาพยาบาลราษฎรผู้ป่วยไข้ตามถิ่นทุรกันดารต่างๆ
พระองค์ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีโครงการรักษาโรคต่างๆ เช่น โครงการทันตกรรมพระราชทาน ซึ่งเป็นพระราชดำริให้ทันตแพทย์อาสาสมัครเดินทางออกไปช่วยเหลือบำบัดโรคเกี่ยวกับฟัน โดยไม่คิดมูลค่า นอกจากนั้น หน่วยแพทย์หลวงยังจัดเจ้าหน้าที่ออกเดินทางไปรักษาราษฎรผู้ป่วยเจ็บ ตามหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลอีกด้วย

- การศึกษา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญในเรื่องของการศึกษาเป็นอย่างมาก พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งมูลนิธิอานันทมหิดล เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เพื่อสนับสนุนทางด้านคัดเลือกบัณฑิตในสาขาวิชาต่าง ๆ ไปศึกษาต่อต่างประเทศ โดยพระองค์ออกทุนให้ตลอดจนดูแลเกี่ยวกับความเป็นอยู่ในต่างประเทศนั้นๆ อีกด้วย

ส่วนในประเทศทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการจัดการบริหารทางการศึกษา แบบให้เปล่าตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา จนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ในลักษณะทั้งอยู่ประจำและไปกลับ แบ่งเป็น โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ จำนวน 26 และโรงเรียน โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ จำนวน 14 โรงเรียน

- ศิลปวัฒนธรรม
นอกจากพระราชนิพนธ์ทางด้านดนตรี ภาษา และวรรณกรรมแล้ว พระองค์ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สนับสนุนศิลปวัฒนธรรมไทยในหลายด้านๆ เช่น ใน พ.ศ. 2503 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นมาใหม่หลังจากที่ได้เลิกร้างไปตั้งแต่ พ.ศ. 2479 โปรดเกล้าฯ ให้กรมศิลปากรจัดทำโน้ตเพลงไทยตามระบบสากลและจัดพิมพ์ขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และทรงสนับสนุนให้มีการจัดตั้งสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย เป็นต้น