พระอัจฉริยภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

ด้านศิลปะ
- จิตรกรรม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเชี่ยวชาญด้านจิตรกรรม ภาพวาดฝีพระหัตถ์เป็นแบบภาพเหมือน โดยทรงศึกษาและเขียนจากต้นแบบจริง ต่อมาจึงเริ่มมีผลงานจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ที่มีลักษณะการตัดทอนรูปทรงจากแนวเหมือนจริง แสดงออกถึงรูปทรง และไร้รูปทรงหรือนามธรรม ตลอดจนกึ่งนามธรรม และในระยะต่อมาทรงเริ่มเขียนแบบฉับพลัน ที่เรียกว่า แบบเอ็กเพรสชันนิสซึ่ม

- ประติมากรรม
ผลงานประติมากรรมฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่สำคัญคือ ประติมากรรมลอยตัวสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถครึ่งพระองค์ สูง 12 นิ้ว และประติมากรรมหญิงเปลือยนั่งคุกเข่าสูง 9 นิ้ว ที่ทรงปั้นด้วยดินน้ำมัน นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างพระพุทธรูปและพระพิมพ์ในโอกาสต่างๆ เช่น พระพุทธรูปปางประทานพร ภปร. พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ พระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ประจำรัชกาล และทรงแกะแบบแม่พิมพ์ พระพิมพ์ที่เรียกกันว่าสมเด็จจิตรลดา หรือพระกำลังแผ่นดิน ทรงบรรจุผงศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ด้วยพระองค์เอง โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานผู้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท และเมื่อพ.ศ.2503 โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้าง พระพุทธนวราชบพิตร พระราชทานแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ เชิญไปประดิษฐานเพื่อความเป็นสิริมงคล

- การถ่ายภาพ
ทรงเชี่ยวชาญการถ่ายภาพทั้งกล้องธรรมดา และกล้องถ่ายภาพยนตร์ ในระยะแรกทรงถ่ายภาพด้วยกล้องที่ไม่มีเครื่องวัดแสงในตัว จึงต้องทรงคำนวณความเร็วของแสงด้วยพระองค์เอง จนสามารถวัดแสงได้อย่างแม่นยำ ทรงประดิษฐ์แผ่นกรองแสงขึ้นเองที่เรียกว่า Bicolocer Filter ตั้งแต่ยังไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย ทั้งยังทรงเชี่ยวชาญในการล้างฟิล์มอัดขยายภาพขาวดำและภาพสี เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นต่างๆ จะทรงถ่ายภาพด้วยพระองค์เองตามพระราชประสงค์ที่จะทรงใช้โดยเฉพาะในการพัฒนาประเทศ

ด้านกีฬา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดทรงกีฬาต่างๆ เช่น เรือใบ แบดมินตัน สกีน้ำ ยิงปืน กอล์ฟเล็ก การแข่งขันรถเล็ก เทนนิสและการออกกำลังพระวรกายด้วยการว่ายน้ำ ทรงพระปรีชาสามารถในการทรงเรือใบอย่างเห็นได้ชัด ในพ.ศ. 2510 ทรงชนะเลิศการแข่งขันกีฬาเรือใบระหว่างประเทศ ด้วยเรือใบประเภทโอเคที่ทรงต่อเอง ในการแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้ง 4 และยังเคยต่อเรือใบประเภทโอเค พระราชทานชื่อเรือว่า "VEGA" (เวคา) (ชื่อดาวฤกษ์ดวงหนึ่งที่สุกสว่างมาก) ทรงใช้เรือลำนี้เสด็จฯ ข้ามอ่าวไทยจากพระราชวังไกลกังวลหัวหิน ไปขึ้นฝั่งที่หาดเตยงามในหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินด้วยลำพังพระองค์เอง

ด้านการช่าง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดมีฝีพระหัตถ์เป็นเยี่ยมในด้านการช่าง ทั้งช่างไม้ ช่างโลหะ และช่างกล เป็นพื้นฐานของงานด้านวิศวกรรมที่ทรงร่ำเรียนในชั้นอุดมศึกษา ทรงประดิษฐ์ของเล่นด้วยพระองค์เองตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทั้งเครื่องร่อนที่บินร่อนได้จริง เรือรบหลวงจำลองของไทยชื่อ "ศรีอยุธยา" และแผ่นกรองแสงที่ใช้กับกล้องถ่ายภาพ
นอกจากพระองค์มีความสนพระทัยในกีฬาเรือใบแล้ว ยังทรงต่อเรือใบ และออกแบบเรือใบด้วยพระองค์เองทุกขั้นตอน โดยแบ่งเป็นเรือใบตามมาตรฐานสากล ประเภท เอ็นเตอร์ไพรส์ (EnterpriseClass) ชื่อ "ราชปะแตน" เรือใบประเภทโอเค ชื่อ "นวฤกษ์" "เวคา 1" "เวคา 2" และ "เวคา 3" ประเภทมด (Moth Class) 3 ลำ ชื่อ "มด" "ซูเปอร์มด" "ไมโครมด" และเรือใบโม้ค (Moke) อีกด้วย

ด้านดนตรี
ทรงได้รับการยกย่องจากคณะกรรมการสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ ประจำปีพ.ศ. 2529 ให้เป็นองค์อัครศิลปินแห่งชาติ ทรงฝึกหัดดนตรีตั้งแต่พระชนมายุ 10 พรรษา ทรงเรียนเป่าแซกโซโฟน วิชาการดนตรี การเขียนโน้ต และสเกลต่าง ๆ ในแนวดนตรีคลาสสิค ทรงนำพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ที่ทรงสะสมไว้ไปซื้อคลาริเนตมาทรงฝึกเป่า และทรงหัดเป่าแซกโซโฟนกับเพลงจากแผ่นเสียงของวงดนตรีที่มีฝีมือ เช่น Johnny Hodges และ Sidney Bechet ทรงโปรดดนตรีประเภท Dixieland Jazz มาก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องดนตรีได้ดี หลายชนิด ทั้งประเภทเครื่องลม เช่น แซกโซโฟน คลาริเนต และประเภทเครื่องทองเหลือง เช่น ทรัมเปต รวมทั้งเปียโน และกีตาร์ที่ทรงฝึกเพิ่มเติมในภายหลัง เพื่อประกอบการพระราชนิพนธ์เพลงและเพื่อทรงดนตรีร่วมกับ วงดนตรีส่วนพระองค์ ชื่อ "อ.ส. วันศุกร์" ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงร่วมบรรเลงกับสมาชิกของวง ออกกระจายเสียงทางสถานีวิทยุเป็นประจำทุกวันศุกร์ ในบางครั้งทรงจัดรายการเพลง เลือกแผ่นเสียงเอง และโปรดเกล้าฯ ให้มีการขอเพลงจากพสกนิกร และจะทรงรับโทรศัพท์ด้วยพระองค์เอง

เพลงพระราชนิพนธ์ของพระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีจำนวนทั้งสิ้น 48 เพลง ทั้งพระราชนิพนธ์ทำนอง และคำร้องภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และพระราชนิพนธ์เฉพาะทำนอง เพลงพระราชนิพนธ์ที่เป็นรู้จักกันอย่างกว้างขวาง ได้แก่ "แสงเทียน" (ซึ่งเป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรก) "ยามเย็น" "ใกล้รุ่ง" "สายฝน" "พรปีใหม่" "ความฝันอันสูงสุด" "เราสู้" "แว่ว" และ "ชะตาชีวิต"

ด้านภาษา และวรรณกรรม
เนื่องจากพระองค์ทรงเจริญวัยในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จึงทรงภาษาฝรั่งเศสและเยอรมันได้เป็นอย่างดี แต่ยังทรงสนพระราชหฤทัยในการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องตามหลักนิรุติศาสตร์ เมื่อทรงมีเวลาว่างจะทรงพระอักษร และทรงพระราชนิพนธ์แปลหนังสือ และบทความจากวารสารภาษาต่างประเทศ เช่น "นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ" ของวิลเลียม สตีเวนสัน หนังสือเรื่อง "ติโต" ซึ่งเป็นชีวประวัติของนายพลติโต ประพันธ์โดยฟิลลิส ออติ และที่เป็นรู้จักกันดีของประชาชนชาวไทย คือผลงานพระราชนิพนธ์เรื่อง "พระมหาชนก" ที่นอกจากทรงแปล เรียบเรียงเป็นภาษาไทยแล้ว ยังทรงแปลเป็นภาษาอังกฤษ และภาษาสันสกฤต พร้อมแผนที่ฝีพระหัตถ์อธิบายที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของเมืองโบราณบางแห่ง และข้อมูลอุตุนิยมวิทยาเกี่ยวกับทิศทางลม กำหนดวันเดินทะเล ตลอดจนจุดอับปางของเรือในเรื่องอีกด้วย